๐ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ อาชีพที่เหมาะกับคนใฝ่รู้ตลอดเวลา หยุดไม่ได้แทบขาดใจ หยุดเมื่อไรตกขบวนเมื่อนั้น
๐ เบื้องหลังความสำเร็จที่วัดจากกำไรมูลค่ามหาศาลของนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์
๐ มองทะลุถึงอนาคต ดัก “แมงเม่า” ไม่ให้เข้ากองไฟเพราะ “ความโลภ”
ตลาดหุ้นถือเป็นแหล่งรวมธุรกิจขนาดใหญ่มูลค่านับหลายล้าน-ล้านบาท มีคนที่กอบโกยเงินเป็นเศรษฐีมากมายจากที่แห่งนี้ในขณะที่บางคนกลายเป็นแมงเม่าสูญเงินไม่น้อยเพียงเพราะตัดสินใจลงทุนจากข้อมูลที่ไม่เพียงพอหรือจากข้อมูลที่ผิดๆ
แต่ในปัจจุบันคงปฏิเสธไม่ได้ว่า “นักวิเคราะห์” ถือเป็นผู้หนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อ-ขายหุ้น ของนักลงทุนไม่มากก็น้อย ฉบับนี้ “Smart Job” จะนำผู้อ่านไปรู้จักกับอาชีพนี้อย่างงลึกซึ้ง ผ่านมุมมองของนักวิเคราะห์หญิงที่ทั้งสวยทั้งเก่ง คนนี้
“วิริยา ลาภพรหมรัตน” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคิน จำกัด และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ผู้ชี้นำการตัดสินใจในการลงทุนแก่นักลงทุนให้มั่งคั่งมากว่า 15 ปี ถือเป็นนักวิเคราะห์หุ้นทางปัจจัยพื้นฐานรุ่นแรกๆ ในตลาดหุ้น เพราะในอดีตเดิมทีส่วนใหญ่จะมีแต่นักวิเคราะห์ทางเทคนิค ซึ่งพิจารณากราฟและมูลค่าการซื้อขายเป็นหลัก
เมื่อ “เสน่ห์” ของอาชีพ
คือการก้าวให้ทันเศรษฐกิจ
แม้จะไม่ได้เริ่มต้นจากอาชีพนี้โดยตรง แต่สุดท้ายเมื่อเธอเลือกเดินเข้าสู่เส้นทางอาชีพนี้ ก็รู้สึกว่าสายงานนี้เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด และอาจจะเป็นเพราะเสน่ห์ที่แฝงมากับลักษณะงาน ที่นักวิเคราะห์หลายคนคงสัมผัสได้ จึงลงเอยกับอาชีพนี้มาแล้วกว่า 15 ปี
“อาชีพนี้ยิ่งทำงานไปยิ่งมีเสน่ห์ เพราะความรู้จะเพิ่มพูนขึ้น กว้างขึ้น เนื่องจากเราจะได้เห็นการเติบโตของบริษัทที่เข้ามาจดทะเบียน หรือว่าทำไมบริษัทนี้จึงถดถอย ความสุขอีกอย่างหนึ่งคือการให้ข้อมูลที่มีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนได้อย่างถูกต้อง” วิริยา กล่าว
ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่เป็นแหล่งรวบรวมความรู้ทางเศรษฐกิจทั้งมหภาคและจุลภาค ผู้ที่ทำงานในแวดวงนี้จึงต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของวงการตลาดเงิน-ตลาดทุน คอยตรวจสอบปัจจัยทางเศรษฐกิจต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั้งทางบวกและลบ ผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้จึงต้องพัฒนาความรู้ให้ทันเหตุการณ์ตลอดเวลา เหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่ไม่ชอบทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม
บทบาทของนักวิเคราะห์คือ การทำให้การซื้อขายหุ้นหรือการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นเป็นไปตามหลักการและปัจจัยพื้นฐาน แม้ว่าบางครั้งสภาพตลาดหุ้นก็มีความผันผวนบ้างอันเนื่องมาจากผลของจิตวิทยา ก่อให้เกิดการบิดเบือนมูลค่าที่แท้จริงของราคาหุ้นบ้าง แต่นักวิเคราะห์มีความเชื่ออยู่เสมอว่า สุดท้ายแล้วราคาหุ้นก็จะวิ่งกลับเข้าหามูลค่าที่แท้จริงอยู่เสมอ
เพราะฉะนั้น หากไม่มีนักวิเคราะห์อาจก่อให้เกิดผู้ที่เสนอตัวเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องหุ้นขึ้นอย่างหลากหลายซึ่งไม่รู้ว่าน่าเชื่อถือเพียงใด นักลงทุนจึงมักใช้ข่าวลือเป็นองค์ประกอบในการตัดสินใจซื้อขายหุ้น หรือแม้กระทั่งป้องกันการแห่ร่วมวงไล่ปั่นหุ้นของแมงเม่าทั้งหลาย
เพราะเป็นเรื่องปกติที่นักเล่นหุ้นหลายคนมักเคยได้ยินว่า “เขาว่า....มันจะขึ้น” หรือ “เขาว่ากันว่า.....มันจะลง” ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังไม่รู้เลยว่า “เขา” คนนั้นเป็นใคร แต่นักวิเคราะห์จะพิจารณาข้อมูลจากความเป็นไปได้ทางสถิติ โดยวิเคราะห์ว่าปัจจัยที่เข้ามากระทบกับการลงทุนจะกระทบในระยะสั้นหรือระยะยาว รุนแรงมากแค่ไหน
“ใจรัก” กุญแจสำคัญ
ฝ่าฟันเส้นทางอาชีพ
ความยากของอาชีพนี้จะอยู่ที่ช่วงแรกในการทำงาน เพราะไม่รู้ว่าจะเอาข้อมูลมาจากไหน แม้กระทั่งเมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว การที่จะวิเคราะห์หุ้นตัวหนึ่ง ต้องมีการประมาณการตัวเลขต่างๆ คำนวณหา ratio แต่พอมาถึงขั้นตอนของการประเมินมูลค่าหุ้น(valuation) ว่าควรมีมูลค่ากี่บาท นักวิเคราะห์ต้องเลือกว่าจะใช้วิธีอะไรในการหามูลค่า และตัวเลขทุกจุดที่ใช้ในการคำนวณเพื่อหามูลค่าหุ้นต้องสามารถอธิบายได้ว่ามาจากไหน เมื่อทำงานได้สักระยะหนึ่ง ผู้ที่อยู่ในอาชีพนี้จะทำงานได้สมาร์ตขึ้น บริหารเวลาได้ดีขึ้น ช่วงหลังจึงไม่เหนื่อยมากเหมือนกับช่วงแรก
ในบางครั้งผลการวิเคราะห์ที่นำเสนอต่อสาธารณะชน ว่าหุ้นตัวนี้จะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ จะขึ้นนะ จะลงนะ แต่ราคาที่สะท้อนในตลาดหลังจากที่ออกบทวิเคราะห์ไปแล้ว 1-2 วันกลับไม่เป็นอย่างนั้น ก็จะมีฟีดแบ็กกลับมาว่าทำไมถึงวิเคราะห์ออกมาแบบนี้ แต่สุดท้ายแล้วราคาหุ้นก็จะมีทิศทางราคาเป็นไปตามที่บทวิเคราะห์เคยนำเสนอไปอยู่เสมอ
“ถ้าถามว่ารู้สึกแย่หรือล้มเหลวไหม ก็ไม่นะ เพราะเป็นการมองไปในอนาคต เราก็จะมองไปข้างหน้าเสมอ ข้างหน้าที่มองก็จะอิงกับสถานการณ์ต่างๆ รอบๆ อยู่เสมอ”
นักวิเคราะห์ที่ดีนั้นต้องเริ่มจากการที่มี “ใจรัก” ในการทำงานเป็นอย่างแรก เพราะหากมีใจแล้วการทำงานก็จะง่ายขึ้น มีกำลังใจที่จะฝ่าฟันอุปสรรคในการทำงานได้ อย่างที่สอง ต้องมีความ รับผิดชอบต่อข้อมูลที่ได้รับมาและข้อมูลที่นำเสนอออกไป หากฐานข้อมูลเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญที่อาจกระทบกับการลงทุน นักวิเคราะห์ต้องรับผิดชอบด้วยการออกบทวิเคราะห์มาแก้ไขคำแนะนำ เช่น จากซื้อเป็นขายหรือถือ ไม่ควรปล่อยเลยตามเลย มิเช่นนั้นความน่าเชื่อถือจะลดลงไปในทันที
อย่างที่สาม ต้องมีจรรยาบรรณ โปร่งใสในการให้ข้อมูล เช่น หากได้รับข้อมูลมาว่า บริษัท ก เริ่มมีการใช้เงินในทางผิดปรกติ แม้นักวิเคราะห์คนนั้นจะสนิทกับบริษัท ก มากแค่ไหน ก็ต้องนำข้อมูลที่ได้มา เขียนเป็นบทวิเคราะห์ เพื่อนำเสนอข้อเท็จจริงต่อสาธารณะ เพราะเป็นข้อมูลที่มีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุน และมีผลโดยตรงต่อราคาหุ้น
อย่างที่สี่ ต้องมีความเป็นกลางในการให้ข้อมูลเพื่อตัดสินใจ อย่าให้คำแนะนำที่สุดโต่งเกินไป เพราะขึ้นชื่อว่าตลาดหุ้นแล้วย่อมไม่ได้มีขาเดียว มีขึ้นก็มีลง ในภาวะตลาดกระทิง หุ้นพุ่งขึ้นแรงก็อย่าเชียร์จนเกินไป อาจต้องแนะนำว่าเริ่มมีความเสี่ยง ระวังจะมีการเทขายทำกำไร เป็นต้น
ครอบครัว VS งาน
ภารกิจที่ต้องบริหารให้ลงตัว
หากฝ่าฟันมาถึง ณ จุดหนึ่ง ส่วนใหญ่จะรู้สึกสนุกกับงานที่ทำ เธอย้ำว่า นักวิเคราะห์ที่ยังคงทำงานอยู่ในทุกวันนี้เพราะรู้สึกสนุกกับงานที่ทำ เพราะหากไม่รู้สึกสนุกก็จะทำงานแบบนี้ไม่ได้อย่างแน่นอน เนื่องจากเป็นงานที่หนัก ใช้สมองและความคิดมาก วิเคราะห์ถูกก็ไม่มีคนว่า ไม่มีคนชม แต่เมื่อใดก็ตามที่วิเคราะห์ผิดก็อาจถูกต่อว่าทันที
จันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เช้ายันค่ำเรียกได้ว่าหายใจเข้าออกต้องเป็นเรื่องหุ้น ในระหว่างวันอาจต้องโฟนอินพูดคุยกับหลายๆรายการทั้งวิทยุและโทรทัศน์ เช่น วิทยุจุฬา FM 101 FM 98 เครือเนชั่นทั้งทีวีและวิทยุ รายการ Money Cannel เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นวิทยากรบรรยายในการสัมมนาต่างๆ ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้หญิงสวย-เก่ง ทำงานหนักขนาดนี้ หลายคนคงสงสัยว่าเธอบริหารเวลาอย่างไรระหว่างครอบครัวกับงาน
“พอจบจากงานแล้วถ้าไม่มีอะไรเร่งด่วน เวลาตรงนั้นก็จะให้กับครอบครัวเต็มที่ เพราะว่ามันเป็นแค่ช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น”
บางครั้งทำงานยุ่งมากก็อาจรู้สึกว่าห่างเหินลูกบ้าง แต่ลูกก็ยังไม่บ่นอะไร เสาร์-อาทิตย์ จึงเป็นช่วงเวลาที่ชดเชยได้ดีที่สุด หากไม่ได้เป็นวิทยากรที่ไหนก็จะพาลูกๆ ไปเที่ยวเพื่อชดเชยกับเวลาที่ทุ่มให้กับงานที่อาจจะกินเวลาที่ต้องให้กับครอบครัวในวันจันทร์-ศุกร์ ทั้งนี้ผู้ที่จะเป็นนักวิเคราะห์ได้ ครอบครัวต้องสนับสนุน ต้องมีคนหนึ่งเป็นหลักดูแลที่บ้านได้ในระดับหนึ่ง เพื่อสนับสนุนให้
รวมถึงบริษัทต้องมีระบบที่เอื้อให้ง่ายต่อการทำงาน ทุกวันนี้เธอจะออกจากที่ทำงานประมาณ 1 ทุ่ม ในระหว่างการขับรถก็ใช้วิธีโทรศัพท์คุยกับน้องๆ นักวิเคราะห์ในแผนกแทน เรียกได้ว่าใช้เวลาทำงานได้คุ้มค่าจริงๆ
ส่วนเส้นทางเติบโตในสายอาชีพต่อจากการเป็นนักวิเคราะห์ก็เรียกว่ากว้างมาก เช่น เซลล์สถาบัน (Institutional Sales) ผู้จัดการกองทุนรวม , วาณิชธนากร , นักลงทุนสัมพันธ์ , นักบริหารความเสี่ยง , ที่ปรึกษาทางการเงิน , ผู้ช่วยผู้บริหารทางการเงิน , นักวิเคราะห์โครงการ ฯลฯ หรือใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินกิจการของตนเองได้
ถ้าพูดถึงเงินเดือนก็เรียกได้ว่าอยู่ในระดับสูงพอสมควร แต่ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับประสบการณ์และความแม่นยำของผลการวิเคราะห์ที่ผ่านมา ถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่เติบโตเร็วมากถ้าคนๆ นั้น“เจ๋ง” พอ
*******************
4 หลักคิดมือโปร
1.อนาคตของการลงทุนจะไม่ถูกจำกัดเพียงแค่ตลาดหุ้น แต่จะมีความเชื่อมโยงกันทุกตลาดที่เกี่ยวข้องกัน
2.เมื่อปัจจัยพื้นฐานของหุ้นเปลี่ยน ต้องเปลี่ยนคำแนะนำให้ทันตามที่ปัจจัยพื้นฐานที่เปลี่ยนไป
3.ทำงานด้วยใจจะใช้พลังงานน้อยกว่าทำงานด้วยสมอง
4.เรือที่จอดที่ท่าจะปลอดภัยที่สุด “แต่เรือไม่ได้สร้างมาให้จอดที่ท่า” นักวิเคราะห์จึงต้องพูดอย่างฟันธงให้ชัดเจน
เรื่อง : เอกพล ไชยเสนา ผู้จัดการ 360 รายสัปดาห์
No comments:
Post a Comment