Wednesday, February 11, 2009

กำจัดความเชื่องมงาย (จากหนังสือกฎแห่งความโชคดี)

สิ่งที่สามารถเปลี่ยน “โชค” ของเราได้มากที่สุดมีสองอย่าง ตัวท่านเอง กับ มนุษย์คนอื่น
ถ้าคุณอยากโชคดี คุณต้อง “บริหาร” 2 อย่างนี้ให้ดี

“คนที่ไม่เชื่อว่าเขาสามารถสร้าง “โชค” ให้ตนเองได้ ก็จะหาที่พึ่งเป็น “วัตถุ”
เพราะถ้าสิ่งไม่ดียังเกิดขึ้นอีก เขาจะได้ไม่ต้องรับผิดชอบ” - บัณฑิต อึ้งรังษี
“ยิ่งคุณเชื่อ "วัตถุ" ในการสร้างโชคมากเท่าไร คุณยิ่งพึ่งตนเองน้อยลงเท่านั้น” - บัณฑิต อึ้งรังษี
เหตุผลหลักที่คนบางคนที่เชื่อใน “สิ่งของ” อย่างหัวปักหัวปำนั้น ก็เพราะว่าเขาไม่เชื่อใน
“ความสามารถ” ของตนเอง -- บัณฑิต อึ้งรังษี

ระวังในสิ่งที่คุณเชื่อ !

ถามตนเองเสมอว่า สิ่งที่คนอื่นบอกมาให้คุณเชื่อนั้น “มีเหตุผล” หรือเปล่า
ฝรั่งก็เชื่อใน เท้าของกระต่าย (rabbit’s feet) หรือ โคลเวอร์สี่ใบ (four-leave clover)
ที่จะนำโชคมาให้ คนไทยก็มีความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ เวทมนตร์ ซึ่งไม่ได้มีความเป็นเหตุผลทางศาสนาเลยแม้แต่นิดเดียว

ตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ มีคน “อุปโลกน์” ความเชื่อแปลกๆ ขึ้นมา อ้างว่าสิ่งโน้นสิ่งนี้
หรือการกระทำบางอย่าง จะนำมาซึ่งโชคดีหรือโชคร้าย มีเป็นร้อยอย่างพันอย่าง ส่วนใหญ่ฟังแล้วไม่มีเหตุผล
เช่น เอาน้ำเต้าไว้หน้าบ้านจะนำเงินทองมาให้ ลอดท้องช้างทำให้โชคดี ฯลฯ

คนที่มีสมองหน่อยก็จะมานั่งคิดว่า “จริงหรือ เท้ากระต่าย หรือ น้ำเต้า นำโชคดีมาให้
แล้วใครเป็นคนตั้งกฎนี้ และคนนั้นรู้ได้อย่างไร มีข้อพิสูจน์หรือเปล่า แล้วคนๆ นั้นโชคดีแค่ไหน
มีหลักฐานไหม มีการวิจัยทางวิทยาศาสตร์มาไหม”

เฮอร์เบิร์ต คัสสัน นักปราชญ์ชาวอังกฤษได้กล่าวไว้ว่า "บรรดาคนป่าพากันเชื่อถืออำนาจผีปีศาจว่า
เป็นผู้ให้ดีให้ร้ายแก่ตน และว่าถ้าใครต้องการโชคดี ลำพังแต่จัดการเซ่นไหว้เท่านั้น ก็จะได้สมประสงค์
ถ้าใครทำให้เป็นที่พอใจของผีปีศาจได้ ข้าวก็จะขึ้นงอกงาม สัตว์ร้ายไม่มีมารบกวน อายุก็ยืน
มีแต่ความสุขความเจริญตลอดไป ถ้าใครทำให้เป็นที่พอใจไม่ได้ ข้าวก็จะตายไปด้วยความแห้งแล้ง
สัตว์ร้ายก็จะมารังควาน จะมีแต่ความทุกข์ยากด้วยประการต่างๆ"

ที่น่าแปลกใจก็คือ ในปัจจุบัน คนหลายคนก็ยังมีความเชื่อเหมือนคนป่าเหล่านั้นอยู่ !
ผมเพิ่งได้ความรู้ใหม่มาว่า ความเชื่อในเรื่องเครื่องรางของขลัง ไม่ได้มีพื้นฐานมาจากคำสอนของพระพุทธเจ้าเลย!

ความรู้นี้มาจากบทความเรื่อง “ทำไมคนไทยจึงล้าหลัง” ของคุณวิกรม กรมดิษฐ์
“ปัญหามาจากการขาดการศึกษาที่ถูกต้องอีกอย่างหนึ่งก็คือ คนไทยยังงมงายในเรื่องของ
โชคลาภและเครื่องรางของขลัง และนำชีวิตไปผูกติดกับสิ่งเหล่านั้นจนเกินไป ผมเคยบวชเป็นพระ
และได้รู้เกี่ยวกับเครื่องรางของขลังว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้เชื่อในสิ่งที่งมงาย
แต่ให้เชื่อในเรื่องสัจธรรม วันนี้สังคมเรามีพระเทียม ที่ชอบใช้อภินิหารเพื่อให้ตนเองเป็นที่นิยม
และชักนำผลประโยชน์มาสู่ตน จนกลายเป็นการมอมเมาประชาชนไปแล้ว...”
ตัวผมเองไม่เชื่ออย่างเด็ดขาดว่าวัตถุอะไรก็ตามจะนำความโชคดีมาให้กับมนุษย์ได้

สิ่งที่สามารถเปลี่ยน “โชค” ของเราได้มากที่สุดมีสองอย่าง ตัวท่านเอง กับ มนุษย์คนอื่น
ตามที่ผมได้กล่าวมาแล้ว (Rule 2 and Rule 18)
เพราะฉะนั้น ถ้าคุณอยากโชคดี คุณต้อง “บริหาร” 2 อย่างนี้ให้ดี
ยิ่งคุณรู้จักนำศักยภาพของ 2 อย่างนี้มาใช้มากเท่าไร คุณยิ่งโชคดีมากขึ้นเท่านั้น

วัตถุเป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิต มนุษย์สร้างขึ้นมากันเอง จะสร้างอย่างไรก็สร้างได้
แต่ความเป็นจริงก็ยังเหมือนเดิม คือ มันไม่มีชีวิต ถ้าคุณอยากจะฝากอนาคตของคุณ
ไว้กับสิ่งไม่มีชีวิต ก็ไม่มีใครห้ามคุณได้ แต่คุณจะเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ !

อย่ามาบ่น ถ้าเวลาผ่านไปเป็นสิบยี่สิบปี คุณไม่ได้พัฒนา “ทักษะในการสร้างโชค” ขึ้นมาเลย
คุณเพียงแต่กระโดดจากสิ่งหนึ่งไปอีกสิ่งหนึ่งเพื่อหาว่า สิ่งที่ไม่มีชีวิตชิ้นไหน มีอำนาจการให้โชคมากที่สุด
เอาเวลาที่เสียไปกับการเสาะหาว่า “สิ่งของไหนดีกว่าสิ่งไหน” ไปพัฒนาความสามารถตนเอง
และการสร้างสัมพันธ์กับผู้อื่นดีกว่า เพราะ ตนเอง และ ผู้อื่น จะนำโชคดีมาให้คุณอย่างไม่มีที่สิ้นสุด !

ข้อปฏิบัติ
•เช็คความเชื่อทุกอย่างที่เข้ามา ถ้ามีคนบอกคุณว่า สิ่งโน้นสิ่งนี้ จะทำให้คุณโชคดีหรือร่ำรวยได้
ถามตนเองก่อน ด้วยเหตุและผล มันเป็นไปได้ไหม หรือว่าเขากำลังจะเอาของมาหลอกขายเพื่อเอาเงินจากคุณไปเยอะ ๆ
หรือเพื่อผลประโยชน์อย่างอื่น หรืออาจเป็นความเชื่อที่เชื่อกันมานานจนไม่รู้ต้นตอ เป็นความเชื่อของคนสมัยโบราณ
ที่เอาไว้หลอกคนอื่นด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม จำเป็นไหมที่คุณต้องไปงมงายด้วย คุณเป็นคนสมัยใหม่แล้ว

***********

ทำไมต้องเลิกเชื่องมงาย เพราะประเทศจะไม่มีทางเจริญได้ ถ้าคนส่วนใหญ่ของประเทศนั่น เชื่อว่า
โชคของเขาจะมาจากวัตถุที่เขาสร้างขึ้นมากันเอง แล้วก็นั่งรอนอนรอโชค
แทนที่จะเชื่อว่าโชคดี มาจากการทำงานหนัก และทำงานอย่างฉลาด และความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกคน

บัณฑิต อึ้งรังษี

No comments:

Post a Comment