Thursday, March 5, 2009

เติมโชคให้มุมมอง : มองให้เห็นธรรมชาติของสิ่งที่เรากำลังมองโชค บูลกุล

“ยิ่งอ่านมาก ยิ่งรู้มาก” คงเป็นประโยคที่หลายคนคุ้นหู และน้อยคนคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการอ่านเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ดังนั้นดัชนีตัวหนึ่งที่เรามักเห็นเขานำมาใช้เพื่อเป็นตัวชี้วัดความเจริญของสังคม จึงเป็นอัตราการรู้หนังสือ หรือเปอร์เซ็นต์การอ่านออกเขียนได้ของคนในประเทศ ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่ปฏิเสธถึงความสำคัญของการเรียนรู้จากการอ่าน แต่ตรงกันข้ามผมเองก็กลับไม่ใช่คนที่รักการอ่านสักเท่าไร ซึ่งนั่นอาจเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีนัก แต่ในวิธีการเรียนรู้ของผมทั้งในการดำเนินชีวิต หรือการทำงาน ผมอาศัยหลักการสังเกต และการพยายามทำความเข้าใจถึงธรรมชาติของสิ่งนั้นๆ บนพื้นฐานของความเป็นเหตุเป็นผล มากกว่าที่จะมานั่งอ่านแล้วตีความ และสุดท้ายก็ปฏิบัติตามแบบผิดๆ ถูกๆ
กรณีตัวอย่างที่ผมมักจะหยิบยกมาบอกเล่า เพื่อสะท้อนให้เห็นและเข้าใจถึงสภาพความเป็นจริงในธรรมชาติของสิ่งที่เรามองคือ กรณีความผูกพันโดยสัญชาตญาณของแม่สุนัขและลูกสุนัข ซึ่งหากสังเกตให้ดี กรณีนี้สามารถสะท้อนให้เราเห็นถึงสัญชาตญาณของสิ่งมีชีวิตเพศแม่ ที่ธรรมชาติอาจลงโปรแกรมให้มีความรัก ความเอื้ออาทรต่อลูกมากกว่าสิ่งมีชีวิตเพศผู้ ดังนั้นบ่อยครั้งเราจึงพบว่า พ่อสุนัขสามารถทำร้ายลูกของมันได้เพียงเพราะต้องการแย่งอาหาร แต่น้อยครั้งที่เราจะเห็นแม่สุนัขทำร้ายลูกของมันเอง หากเทียบเคียงกับเรื่องราวของมนุษย์ ที่เรามักได้ยินข่าวพ่อทำร้ายลูก พ่อข่มขืนลูก จึงทำให้อดคิดไม่ได้ว่า นั่นอาจเป็นสิ่งที่ธรรมชาติได้บัญญัติไว้ให้สิ่งมีชีวิตเพศผู้มีความผูกพันกับลูกน้อยกว่าสิ่งมีชีวิตเพศเมีย
ฉะนั้น หากเราเข้าใจถึงธรรมชาติตรงนี้แล้ว เราคงต้องยอมรับว่า ความผูกพันระหว่างพ่อกับลูกคงเทียบไม่ได้กับความผูกพันขั้นพิเศษ ที่ยากเกินกว่าจะอธิบายให้เข้าใจลึกซึ้งได้ระหว่างแม่กับลูก ซึ่งผมเชื่อเหลือเกินว่า แม้กระทั่งคนที่ยังไม่เคยเป็นแม่เองก็คงไม่เข้าใจ แต่การที่ความผูกพันระหว่างพ่อกับลูกที่มีน้อยกว่านี้ อาจทำให้พ่อมีความได้เปรียบในเรื่องการอบรมสั่งสอนลูก เพราะหากมีเรื่องที่จำเป็นต้องดุด่าว่ากล่าวหรือตักเตือนลูก ก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่คนเป็นแม่จะทำได้ ยกเว้นในบางกรณีที่เราได้ยินข่าว แม่ทำร้ายลูก หรือทอดทิ้งลูกได้โดยไม่อนาทรร้อนใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าคิดว่า เขาคนนั้นสมควรถูกตราหน้าว่าต่ำกว่าเดรัจฉานหรือไม่
เมื่อเรามองเห็นถึงธรรมชาติของสิ่งที่เราตั้งใจที่จะมอง ก็ควรยอมรับมันแต่โดยดี เพราะมิเช่นนั้น ก็คงป่วยการหากต้องดิ้นรนขวนขวายหาคำตอบ จงหยุดคิดที่จะตั้งคำถาม เพราะการตั้งคำถามที่หาคำตอบไม่ได้ สุดท้ายสิ่งที่ได้กลับมาก็เป็นแค่เพียง ‘ความฟุ้งซ่าน’ เท่านั้น
นี่คือตัวอย่างหนึ่งของวิธีการมองและวิธีการเรียนรู้ของผม ซึ่งแน่นอนผมใช้วิธีการเรียนรู้แบบนี้กับการบริหารธุรกิจของผมด้วยเช่นกัน ดังนั้นในการบริหารคนของผม ผมจะพยายามมองและทำความเข้าใจธรรมชาติของเขา เข้าใจพื้นฐานชีวิต และรู้เบื้องหน้าเบื้องหลังของเขาก่อน เพราะผมเชื่อว่าหากเราบริหารคนโดยอาศัยความเข้าใจในพื้นฐานธรรมชาติของเขา จะทำให้เราสามารถบริหารและเรียนรู้วิธีการทำงาน เข้าใจพฤติกรรมและเหตุผลในการกระทำของเขาได้อย่างหมดจด และลุ่มลึกกว่าการพึ่งเพียงตำรา หรือการปฏิบัติตามทฤษฎีที่เขียนไว้ในหนังสือ
ส่วนเรื่องของธุรกิจ ผมมองว่าในโลกสมัยใหม่ หลายคนเริ่มมีความเข้าใจความเป็นธรรมชาติของทุกสิ่งน้อยลง อาจเป็นด้วยเวลาที่ถูกจำกัด หรืออาจเป็นเพราะการถูกบดบังด้วยกลไกทางการตลาดแบบทุนนิยมที่ถั่งโถมเข้ามาในวิถีชีวิตคนในยุคนี้อย่างแทบไม่ทันตั้งตัว ด้วยปัจจัยเหล่านี้จึงอาจทำให้คนคิดน้อยลง และลืมมองถึงธรรมชาติที่แท้จริงของสินค้าที่จะซื้อ ประกอบกับการโฆษณาชวนเชื่อแบบไร้เหตุผล กลยุทธ์ทางการตลาดแบบไร้จริยธรรม มุ่งหวังแต่เพียงกอบโกย
ดังนั้นหลักการตลาดทุกวันนี้จึงไม่มีอะไรมากไปกว่า การหาวิธีพรางตาผู้บริโภคให้มองเห็นแค่เพียงเปลือกนอกของสินค้า และละเลยที่จะมองเข้าไปให้เห็นถึงคุณประโยชน์ซึ่งเป็นแก่นแท้หรือธรรมชาติที่แท้จริงของสินค้าเหล่านั้น ยกตัวอย่างเช่น การเสนอขายสินค้าโดยใช้โปรโมชั่นต่างๆ เป็นตัวหลอกล่อ หรือนิตยสารบางประเภทที่มีหน้าปกเชิญชวนให้คนอยากซื้อโดยอาศัยวิธีการใช้ภาพหลุดดารา หรือใช้ภาพที่ส่อเจตนาที่จะสื่อถึงเรื่องเพศมาเป็นจุดดึงดูด โดยที่เนื้อหาภายในเล่มบางทีแล้วอาจไม่ได้เกี่ยวกับภาพที่ปรากฏบนปกเสียด้วยซ้ำ ดังนั้นวิธีการใดก็ตามที่สามารถกระตุ้นให้คนตัดสินใจซื้อได้เร็วและง่ายที่สุด วิธีการใดก็ตามทำให้คนตัดสินใจซื้อโดยไม่ต้องคิดมากจึงเป็นวิธีการที่ผู้ขายจะเลือกใช้เพื่อขายสินค้าให้ได้มากขึ้นเป็นทวีคูณ
เมื่อเจ้าของสินค้าทำการตลาดโดยอาศัยวิธีการเช่นนี้ เราในฐานะผู้บริโภคหากไม่พยายามที่จะทำความเข้าใจธรรมชาติที่แท้จริงของสินค้านั้นๆ เราก็อาจหลงบริโภค และยอมเสียเงินเพื่อซื้อสินค้าเหล่านั้นได้โดยง่าย เพราะฉะนั้นกลอุบายทางการตลาดในอนาคตจึงเป็นสิ่งที่น่ากังวล เพราะไม่ใช่เพียงแค่ความเสื่อมเสียในเรื่องจิตสำนึกของผู้ประกอบการเท่านั้น แต่ยังเป็นการทำลายวิจารณญาณในการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคอีกด้วย
ผู้คนในยุคปัจจุบันจึงควรย้อนกลับมาทบทวนว่าในแต่ละวันที่ผ่านไป เราได้มีสมาธิที่จะคิดพิจารณาไตร่ตรอง และมองสิ่งต่างๆ รอบตัวให้เข้าใจถึงธรรมชาติที่แท้จริงของแต่ละสิ่งมากน้อยเพียงใด ด้วยปัจจัยกลไกการตลาดที่หลากหลาย และมีแง่มุมวิธีการที่สามารถนำมาล่อหลอกเราได้มากขึ้น ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคนี้ที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงการมีเวลาให้คิด และย่อยสลายข้อมูลที่น้อยลงนี้ เราจะมีวิธีการปรับตัวอย่างไรเพื่อให้มีโอกาสในการมองทุกอย่างให้เข้าใจถึงธรรมชาติของสิ่งที่เรามองได้อย่างถ่องแท้มากขึ้น ทั้งหมดคงเป็นสิ่งที่ผมอยากฝากให้ผู้อ่านทุกท่านช่วยกันเก็บไปคิดดูนะครับ
โชค บูลกุล : กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทฟาร์มโชคชัย, clinical professor รายวิชา organization behavior โปรแกรม การบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ ของสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหนึ่งในสมาชิกกลุ่ม Young Global Leaders จากเวที World Economic Forum ซึ่งแต่งตั้งโดยพระราชินีราเนีย แห่งประเทศจอร์แดน
อ่านข้อมูลย้อนหลังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ CEO ที่
http://newsroom.bangkokbiznews.com/chok

No comments:

Post a Comment