คนที่ประสบความสำเร็จในมุมมองของเจ้าสัวธนินท์มีคุณลักษณะโดดเด่นอยู่ 2 ด้าน คือ 1. มีความคิดดี 2.มีคอนเนคชั่นดี
แนวคิดที่ว่า ความล้มเหลวมักมีเหตุมาจากการ "ไม่คิด" ถึงความสำเร็จ หรืออาจจะคิดแบบครึ่งๆ กลาง ๆ หรือ อาจคิดแบบไม่คลิก แต่คงไม่เกินความ จริงแม้แต่นิด
เพราะจากการเปลือยความคิดของนักธุรกิจใหญ่ ไม่ว่าในขั้นระดับโลกอย่างบิล เกตส์ ระดับเอเชียอย่าง ธนินท์ เจียรวนนท์ ฯลฯ ของสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น หนังสือ หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ เว็บไซต์ ล้วนทำให้ได้มองเห็นความคิดที่ต่างอย่างแจ่มแจ้ง ระหว่างเขาผู้ประสบความสำเร็จ กับคนสามัญธรรมดาอย่างเรา
คนที่มัวแต่เฝ้ากอดคองอเข่า เหมือนเต่าอยู่ในกระดอง ต่างกับคนที่คิดแบบมุ่งมั่น มุ่งหน้าสู่ความสำเร็จ เพราะผลลัพธ์ของชีวิตของคนพวกแรกก็คือไม่มีสิทธิ์เป็นซีอีโอองค์กรใหญ่
เมื่อเร็วๆ นี้ มีโอกาสฟังสัมมนาหัวข้อ "Thinking for Success : การจัดการความคิดสู่ความสำเร็จ" ซึ่งจัดโดยสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ และผู้บรรยายก็คือ ดร.ชลวิทย์ เจียรจิตต์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและกิจการพิเศษ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ยิ่งเป็นการคอนเฟิร์มว่า หากคิดจะสำเร็จ ก็จะสำเร็จ
อย่างไรก็ดีกว่ามนุษย์ปุถุชนจะขับเคลื่อนความคิดตัวเองไปสู่ความสำเร็จได้ จะต้องก้าวขึ้นบันได 6 ขั้น
1.ขั้นปิดใจ 2. ขั้นเปิดใจ 3. ขั้นเข้าใจ 4. ขั้นมั่นใจ 5.ขั้นเชื่อใจ และ 6. ขั้นมีแรงบันดาลใจ
"ต้องเปิดใจให้ได้เสียก่อน ก้าวนี้สำคัญมากหากเป็นกรณีธุรกิจที่ผ่านมาเราคงเห็นกรณีฟิล์มถ่ายรูปที่ทำให้แบรนด์ที่โด่งดังในอดีตอย่างโกดักถึงขั้นเจ๊ง เป็นเพราะใจไม่เปิดรับว่าโลกยุคหน้าเป็นของดิจิทัลนั่นเอง"
และการคิดเพื่อความสำเร็จ จะต้องเป็นความสำเร็จเพื่อ "สมดุล" ของชีวิต ไม่ว่าเป็นชีวิตส่วนตัว ชีวิตครอบครัว และชีวิตสังคมการงาน ซึ่งความสำเร็จเพียงเรื่องเดียวอาจเคลมได้ยากว่าเป็นความสำเร็จที่แท้
วิทยากรได้แนะนำหนังสือดีๆ หลายเล่มเพื่อเป็นตัวช่วยสำหรับสร้างแรงบันดาลใจ อาทิ "Top Secret"
ดร.ชลวิทย์ยอมรับว่าแม้ว่าตัวเขานั้นจะอ่านไม่รู้เรื่องในรอบแรก และรู้สึกงงๆ ในรอบที่สอง แต่พอถึงรอบที่สามเขากลับอ่านหนังสือเล่มนี้ได้อย่างเกิดความกระจ่างแจ้งเป็นที่สุด
"มี 3 ข้อคิดที่ได้จากหนังสือและถือเป็นการพลิกชีวิตของผม คือ 1.ตัวเราเกิดมาเพื่ออะไร 2.เรามีเป้าหมายในชีวิตหรือไม่ และ 3.เราได้ปลูกต้นอ่อนที่จะเติบโตเป็นความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือยัง"
หนังสือเล่มนี้อีกทั้งยังนำเขาไปสู่การเป็นคน "คิดบวก" ซึ่งเป็นหนึ่งใน 7 ประการของลักษณะคนที่คิดเพื่อความสำเร็จ ซึ่งประกอบด้วย
1.สื่อสารดี 2.เป้าหมายดี 3.มนุษยสัมพันธ์ดี 4.คิดบวกดี 5. น่าเชื่อถือดี 6. ผู้นำดีและ 7. คาดหวังดี
ดร.ชลวิทย์บอกว่าเขาเคยมีโอกาสถามเจ้าสัวธนินท์ว่า "คนสำเร็จในความคิดของท่านต้องมีคุณลักษณะอย่างไร?"
ซึ่งเขาได้รับคำตอบว่าจะต้องเป็นคนที่เด่น 2 ด้าน คือ 1. มีความคิดดี และ 2.มีคอนเนคชั่นดี
"นก ไม่มีขน คนไม่มีเพื่อนจะขึ้นที่สูงไม่ได้" ฉันใดฉันนั้น
ขณะคนล้มเหลวจะมีคุณสมบัติแตกต่างคือมักเป็นคนที่มีความคิดเย่อหยิ่ง มองคนอื่นมีหรือเป็นด้อยกว่าตัวเอง
ไม่ยอมฟังใคร (เพราะตัวเองเก่งที่สุด) และเป็นคนที่ไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง
ซึ่งในวงเล็บว่าบรรยากาศระหว่างสัมมนาครั้งนี้ม่วนซื่นเป็นที่สุดเพราะวิทยากรจะขอให้ผู้เข้าฟังลุกขึ้นมาแนะนำตัวทำความรู้จักซึ่งกันและกัน มีการจับมือและ ร่วมกันร้องเพลงหลายต่อหลายครั้ง (ชวนให้นึกถึงบรรยากาศออกค่ายลูกเสือ เนตรนารี เมื่อนานมาแล้ว)
"เพราะความคิดสู่ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้เมื่อคนคิดบวก และมีความรู้สึกแบบชิว ชิว " โกรธคือโง่ โมโหคือบ้า ไม่โกรธดีกว่าจะได้ไม่บ้า ไม่โง่ ประมาณนั้น ฝรั่งเองก็มีกฎเพื่อช่วยให้เกิดความคิดที่สำเร็จ คือ ต้องไปเดินเล่น อยู่ห่างจากน้ำตาล จัดระเบียบพื้นที่ทำงาน หลับ และ พยายามทดลองความคิด และดร.ชลวิทย์ก็นำเสนอหลักการอีก 5 ข้อเพื่อให้คิดมุ่งความสำเร็จ ได้แก่
1. ซื่อสัตย์ สุจริต (Honest) 2. จิตมุ่งบริการ (Service-minded) 3. งานสัมฤทธิผล (Accomplished) 4.พัฒนาตน (Self-deveiopment) และ 5.ทุกคนตรวจสอบได้ (Trasparent)
ถึงบรรทัดนี้ไม่ใครก็ใคร (รวมทั้งผู้เขียน) อาจกำลังสงสัยว่า เอ๊..เราอยู่ในกลุ่มไหนกันแน่ (คล้ายจะล้มเหลว) เพราะดูเหมือนว่ามัน "ใช่" ไปซะหมด แต่ปัญหานี้แก้ไขด้วยแนวคิดหมวก 6 ใบ ของ ดร.เอ็ดเวิร์ด เดอ โบโน จึงจะนำเราไปสู่ความคิดที่เป็นระบบและเกิดความสำเร็จได้จริง คือ
1.พร้อมเรื่องข้อมูล 2.พร้อมเรื่องอารมณ์ 3. ไตร่ตรองพิจารณา 4. คิดบวก 5. คิดแบบสร้างสรรค์ และ 6. คิดรอบด้าน
และแม้ว่าหากเราเดินตามแนวคิดหรือหลักการดังกล่าวแล้วจะมีโอกาสนำชีวิตไปสู่ความสำเร็จที่รอคอยอยู่ก็ตาม อย่างไรก็ตามมันอาจเป็นแค่ความฝันเพราะความที่มนุษย์มักหลงอยู่ในกิเลส ไม่มีความพอใจในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ทั้ง เงิน งาน ครอบครัว จนเกิดความกระหายและโหมทำงานหนักทั้งร่างกายจิตใจที่สุดแล้วชีวิตก็หาไม่
เช่นเดียวกับคนที่มีชื่อเสียงในวงสังคมไทยที่ต้องตายก่อนวัยอันควรหลายต่อหลายคน จากเหตุผลเดียวกันคือ ทำงานแบบไม่ลืมหูลืมตา จนลืมดูแลสุขภาพ ไม่หาอาหารที่ดีมาชูพลัง ไม่ออกไปหาอากาศบริสุทธิ์ให้ตัวเองได้สูดดม ...เป็นเรื่องที่วิทยากรกระตุกให้ฉุกคิด
ดร.ชลวิทย์ แนะว่า เราทุกคนควรเริ่มต้นคิดสู่ความสำเร็จตั้งแต่วินาทีนี้ อย่าเพียงแต่หายใจทิ้งไปวันๆ และคงเป็นไปไม่ได้ถ้าไม่นำความคิดไปลงมือปฏิบัติจริง
"บัณฑิต อึ้งรังษี บอกว่าเขาอยากจะเป็นคอนดักเตอร์ที่ดีที่สุดในโลก และที่เขาประสบความสำเร็จเพราะคำคำเดียว คือ ซ้อม ซ้อม และซ้อม"
"Thinking for Success เป็นกระบวนการคิดเพื่อความสำเร็จการมองสิ่งดี สร้างคุณภาพทางมุมมองเพื่อค้นหาสิ่งดีทางออกที่มี คุณภาพ ในตนเองมีทัศนคติที่ดีต่อผู้อื่น ชุมชน สังคม ดำรงตนเป็นผู้มีคุณภาพทางการจัดการ ดำรงชีวิตด้านบวกและมุ่งมั่นเพื่อเป้าหมายที่วางไว้"
ชนิตา ภระมรทัต
No comments:
Post a Comment