Tuesday, July 28, 2009

ลิงเสียแก้ว

ระบบบริหารราชการแผ่นดินปัจจุบัน ยังเลี้ยงคนที่ไม่มีคุณภาพอีกจำนวนมาก รวมทั้งพวกกินตามน้ำและทวนน้ำ

ตอนเริ่มชีวิตนักข่าวใหม่ๆ ต้องรับผิดชอบตามข่าวการนำภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้ ผมก็เลยได้เห็นการทำงานของข้าราชการที่มีอนาคตไกล คือ คุณศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ตอนนั้นมีอีกท่านที่เด่นพอๆ กัน คือ คุณสุชาติ เชาว์วิศิษฐ ซึ่งเรียนจบ London School of Economics and Political Science มาเหมือนกัน (ที่เดียวกับ อาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์) แต่คุณสุชาติ มาดท่านดูเป็นฝ่าย “บู๊” ส่วนคุณศุภรัตน์ ดูเป็น “บุ๋น”
กระทรวงคลัง เป็นหน่วยงานภาครัฐที่มีบุคลากรมีคุณภาพสูงในลำดับต้นๆ ของประเทศ เพราะเมื่อสี่สิบปีก่อน ได้วางรากฐานด้านบุคลากร หลังเห็นแบบอย่างจากแบงก์ชาติ ยุคดร.ป๋วย บุคคลที่มีบทบาทในเรื่องนี้ในยุคนั้นคือ คุณบุญมา วงศ์สวรรค์ ปลัดกระทรวง

ผลจากการสร้างรากฐานบุคลากรที่ยาวนาน ส่งผลให้ คุณภาพงานบริหาร และวิชาการของกระทรวงคลังออกมาในระดับแนวหน้า ไม่ว่าจะเอาไปเทียบกับ แบงก์ชาติ หรือสภาพัฒน์ แต่เนื่องจากบุคคลระดับหัวกะทิของกระทรวงนี้ ไม่ค่อยมี “สมองไหล” ไปภาคเอกชนมากนัก ความต่อเนื่องด้านบุคลากรจึงดีกว่า
กรณีของคุณศุภรัตน์ เป็นยิ่งกว่าการสร้างบุคลากรกระทรวงการคลังด้วยซ้ำ เพราะท่านได้ทุนตั้งแต่เรียนชั้นประถม คือทั้งชีวิตเป็นนักเรียนทุนหลวงมาทั้งชีวิต จึงมีความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะรับราชการ และต้องเป็นหน่วยงานที่ทำประโยชน์ให้ประเทศได้อย่างกว้างขวาง ดังนั้นแม้จะสอบติดแพทย์ที่มหิดล เรียนไปได้หนึ่งเทอม ก็ยังไปสอบชิงทุน ก.พ. ไปเรียนเศรษฐศาสตร์แทนเพื่อที่จะกลับมารับราชการ

หลายคนไม่เข้าใจว่าเมืองไทยมีคนอย่างคุณศุภรัตน์ อยู่หลายท่าน คือ เป็นเด็กเรียนเก่งจากต่างจังหวัด ได้รับทุนหลวง จนเรียนจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก คนเหล่านี้เขาถือว่า ราชการ “ให้ชีวิต” ที่ก้าวมาไกล เกินกว่าคาดคิด ดังนั้นจึงต้องทำงานอย่างอุทิศตัวจนกว่าจะเกษียณอายุราชการ
ระบบในกระทรวงการคลัง ดูแลให้คุณศุภรัตน์ทำงานรับใช้ประเทศชาติมาอย่างยาวนาน เริ่มจากเจ้านายคนแรกคือ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล จนกระทั่งถึง รัฐมนตรีคลัง อย่างคุณธารินทร์ นิมมานเหมินท์ ที่แต่งตั้ง คุณศุภรัตน์ เป็น อธิบดีกรมสรรพากร ในปี 2543 ซึ่งเร็วมาก ต่อมา ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ก็แต่งตั้งให้เป็น ปลัดกระทรวงการคลัง ในวัยห้าสิบต้นๆ ตอนปี 2547 โดยไม่แคร์ว่า เป็นคนที่โตมาในยุคหม่อมเต่า และพรรคประชาธิปัตย์

นับได้ว่า กระทรวงการคลัง และนักการเมืองที่เข้ามาดูแลกระทรวงคลังที่ผ่านมา ได้ช่วยกัน “เจียระไน” เพชรเม็ดนี้ได้ดี แต่มีสุภาษิตไทยบทหนึ่งว่าไว้ “ลิงได้แก้ว” คือของมีค่านั้น ใช่ว่าจะมีความหมาย หรือคู่ควรไปกับทุกคน วันนี้คุณศุภรัตน์จึงไม่สามารถอยู่ที่กระทรวงการคลัง จนกระทั่งเกษียณ อย่างที่ได้ตั้งใจ
คนส่วนใหญ่ อาจคิดว่าเรื่องที่เกิดขึ้น เป็นเคราะห์กรรมของคุณศุภรัตน์ แต่ผมกลับเห็นว่าเป็นเคราะห์กรรมของชาติบ้านเมืองมากกว่า ดูเหมือนว่าในขณะที่ระบบบริหารราชการแผ่นดินปัจจุบัน ยังเลี้ยงคนที่ไม่มีคุณภาพอีกจำนวนมาก รวมทั้งพวกกินตามน้ำและทวนน้ำ รับใช้นักการเมืองอย่างน่าเกลียดกว่า โดยไม่เอาผิด ไม่ลงโทษ ระบบลิงได้แก้ว นี้กลับผลักไสคนดีคนเก่ง อย่างคุณศุภรัตน์ออกมาได้

อย่างไรก็ตาม คุณศุภรัตน์ ไม่ใช่ “เพชร” เม็ดแรกที่ระบบลิงขว้างออกมา อย่างน้อยที่สุด เมื่อสามสิบก่อน คุณอานันท์ ปันยารชุน ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และคุณอำนวย วีรวรรณ ปลัดกระทรวงการคลัง ก็เคยประสบเหตุแบบนี้มาแล้ว ด้วยข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง และค้านกับมโนสำนึกของผู้คนเช่นกัน
ทั้งสองท่านได้รับเชิญให้ไปทำงานภาคเอกชน และประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ไม่ได้เลือนหายไปอย่างที่ใครคิด โดยเฉพาะ คุณอานันท์ ที่ไปเป็นประธานสหยูเนี่ยน ต่อมาได้เป็น ประธานสภาอุตสาหกรรม ที่ทรงอิทธิพลมาก ประสบการณ์ครบเครื่องนี้ทำให้ คุณอานันท์ กลายเป็นนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับการยกย่องอย่างสูง

ผมเข้าใจว่าข้าราชการที่เก่งและดี มักจะไปประสบความสำเร็จในภาคเอกชน เนื่องจากท่านเหล่านั้นมี “ศักยภาพ” ที่สูง แต่ถูกระบบราชการตีกรอบไว้ ดังนั้นเมื่อออกมาก็ทำให้สามารถ ปลดปล่อยศักยภาพได้อย่างเต็มที่

ศักยภาพเช่นนี้ ในช่วงแรกย่อมเป็นประโยชน์ต่อภาคเอกชนแน่นอน กรณีของคุณอานันท์ เบื้องต้น ทางสหยูเนี่ยนย่อมได้ประโยชน์ แต่ประวัติศาสตร์ก็พิสูจน์แล้วว่า ท้ายที่สุดประเทศไทยต่างหากที่เป็นผู้ได้ประโยชน์จากคุณอานันท์

ส่วนคุณศุภรัตน์วันนี้ ได้รับเชิญจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ ไปนั่งทำงานประจำในตำแหน่งรองประธานกรรมการการเงิน แต่วันหน้าอาจต้องกลับไปที่กระทรวงการคลัง หรือทำเนียบรัฐบาลก็เป็นไปได้ทั้งนั้น
แต่เรื่องแบบนี้ใช่ว่าบริษัทไหนก็ทำได้ ถึงจะมีเงินหรือเป็นยักษ์ใหญ่ เพราะแรงเสียดทานและการวิพากษ์วิจารณ์ย่อมมีตามมา ในกรณีคุณอานันท์ เรื่องของท่านเกี่ยวกับประเด็น “ความมั่นคง” ซึ่งหนักกว่าคุณศุภรัตน์ด้วยซ้ำ ดังนั้นนอกจากเหตุผลในเชิงบริหาร แล้วภาคเอกชนคงต้องใช้ทั้งวิสัยทัศน์ และท้ายที่สุดคือ “สามัญสำนึก” แห่งความเข้าใจและเห็นใจ เป็นจุดชี้ขาด

บางครั้งความยิ่งใหญ่ไม่ได้อยู่ที่การใช้ “สมอง” ดึงเอา “คนเก่ง” มาร่วมงานกับเรา แต่เป็นการใช้ “หัวใจ” ในการช่วย “คนดี” เพื่อให้ “ตกน้ำ ไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้” ซึ่งหาได้ยาก

No comments:

Post a Comment