Thursday, December 10, 2009

คิดข้ามฟาก : Turn on, Tune in, Drop Out ลองคิดตามปรัชญาของบุปผาชน

ประภาส ทองสุข
ผมเริ่มสนใจอ่านหนังสือและติดตามผลงานต่าง ๆ รวมถึงบทความของคุณ’รงค์ วงษ์สวรรค์ มานานกว่า 20 ปี ก่อนหน้านั้นผมไม่ค่อยชอบการอ่านหนังสือเท่าไหร่นัก

นักเขียนที่ผมชอบก่อนหน้าคุณ’รงค์ มีอยู่เพียงท่านเดียวคือ ป.อินทรปาลิต กับผลงานหนังสือเรื่องสั้นชื่อ พล นิกร กิมหงวน เป็นหนังสือที่ผมอ่านและสะสมไว้มากที่สุด

และคงเป็นเพราะพ่อรู้ว่าผมชอบ เลยให้เงินซื้ออ่านอยู่เสมอ แม้หนังสือจะราคาเล่มละ 3-5 บาท อย่าขำนะครับ ในยุคนั้นถือว่าถือว่าแพงมากสำหรับเด็กอย่างผมซึ่งฐานะของบ้านเราก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่นัก

แต่พ่อเชื่อว่าการทำให้ลูกรักการอ่านจะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ในภายหน้า นอกจากหนังสือ พล นิกร กิมหงวนแล้ว พ่อยังชอบซื้อ หรือให้เงินผมและพี่ ๆ ซื้อหนังสือชื่อชัยพฤกษ์การ์ตูนอ่านเป็นประจำ ผมหวังว่าน่าจะมีท่านผู้อ่านบทความนี้หลายท่าน เกิดทันยุคนั้นบ้างนะครับ

กลับมาที่ 3 คำภาษาอังกฤษ ที่เป็นชื่อเรื่องวันนี้ ผมอ่านเจอครั้งแรกในหนังสือชื่อ "หลงกลิ่นกัญชา" หนังสือเล่มนี้ คุณ’รงค์ ถ่ายทอดวิถีชีวิตของฮิปปี้หรือที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ตั้งชื่อแบบไทยว่า "บุปผาชน" ของเมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐยุคปี 60 ในอีกด้านหนึ่ง ด้วยความเข้าใจและเห็นใจกลุ่มคนหนุ่มสาวเหล่านี้

ที่ใครหลายคนมองเห็นพวกเขาเหล่านั้นเป็นพวกต่อต้านสังคม ไร้สาระและหลงผิด

ตอนอ่านครั้งแรกไม่ได้คิดถึงอะไรมากนัก นอกจากได้รู้ความหมายของศัพท์ภาษาอังกฤษที่รู้สึกว่าเท่ห์ สนุกและหลงใหลการใช้ภาษาและสำนวน หลากหลายรูปแบบในการถ่ายทอดเรื่องราว ด้วยสไตล์และเอกลักษณ์เฉพาะตัวของ คุณ’รงค์

แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้ซื้อหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ "Bridge สะพานข้ามยุคสมัยของ’รงค์ วงษ์สวรรค์ และเพื่อนหนุ่ม" เป็นหนังสือที่รวบรวมบทสนทนาของนักคิด นักเขียนร่วมสมัยที่มาพบปะพูดคุยกันกันที่ PS แกลลอรี ย่านแพร่งภูธร ในวันสุดสัปดาห์ช่วงกลางเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายนที่ผ่านมาเพื่อร่วมรำลึกถึงชายชื่อ’รงค์ วงษ์สวรรค์ผู้จากไปเมื่อต้นปี

นักคิด นักเขียนกลุ่มนี้ สนทนากันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดที่เกี่ยวข้องกับชีวิต ผลงาน ความหมายและความตาย ของ’รงค์ วงษ์สวรรค์ เสียดายที่ผมไม่มีโอกาสไปนั่งฟัง แต่โชคดีที่หนังสือเล่มนี้ช่วยให้รู้ว่าพวกเขาพูดคุยอะไรกันบ้าง

หนึ่งในแขกรับเชิญเป็นอาจารย์สอนเศรษฐศาสตร์ของธรรมศาสตร์ ชื่ออาจารย์ปกป้อง จันวิทย์ นอกจากงานสอนหนังสืออาจารย์ยังเป็นนักเขียนที่มีผลงานน่าสนใจอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะเล่มหนึ่งที่ผมเคยอ่านซึ่งเขียนถึงเส้นทางสู่ทำเนียบขาวของบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐ ทำให้รู้เรื่องการเมืองและขบวนการเลือกตั้งที่สลับซับซ้อน แต่โปร่งใส และมิติของการเมืองสหรัฐได้อย่างดี

ตอนหนึ่งของการสนทนา ในหัวข้อการอ่าน การเขียน และการเรียนรู้ชีวิตจากหนังสือ อาจารย์ปกป้องพูดถึงบ้านของคุณ’รงค์ ที่เชียงใหม่ชื่อ "สวนทูนอิน" และบอกว่ามีประโยคหนึ่งที่ติดอยู่ คือ "Turn on, Tune in, Drop out"

และอธิบายความหมายของแต่ละคำ ที่เป็นแนวคิดของบุปผาชนอย่างชัดเจน ทีละคำดังนี้ "Turn on" คือการแสวงหาทัศนะแปลกใหม่ของชีวิต ถ้าในยุคของพวกฮิปปี้อาจจะด้วยยาเสพติด แต่ตอนนี้อาจารย์บอกว่าไม่ต้องทำแบบนั้นก็ได้เพราะมีที่ทางหลากหลายให้แสวงหาทัศนะใหม่จากการดูหนัง การเขียน การอ่าน

"Tune in" คือการคืนตัวเองไปอยู่ในกระแสธรรมชาติ พยายามเรียนรู้โลก เรียนรู้คน แบบเปิดใจ รักคนอื่นแบบไม่มีเงื่อนไข ให้ตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เป็นส่วนหนึ่งของโลก ไม่มองว่าเป็นคนชาติไหน เพศไหน แต่มองคนเป็นเพื่อนร่วมโลก

ส่วน Drop out คือการละทิ้งโลก แล้วดำเนินชีวิตตามใจ ปรารถนา แบบเป็นไทแก่ตน ซึ่งอาจารย์ปกป้องเชื่อว่าทั้งหมด เป็นปรัชญาที่คุณ’รงค์ ใช้ในการเขียนหนังสือและการใช้ชีวิตด้วย

สำหรับผมเมื่อย้อนกลับไปนึกถึงการรู้จักคำเหล่านี้ครั้งแรก กับช่วงเวลาที่ห่างกันหลายปีจนกลับมาเจอกันอีกครั้งวันนี้ ความหมายของคำเหล่านี้ให้ข้อคิดที่ต่างกันอย่างมากมายมากมาย

ผมบอกตัวเองว่าความหมายของแต่ละคำ เป็นสิ่งที่สามารถนำไปเป็นข้อคิดในการมองและเข้าใจสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ทั้งนี้ไม่จำเป็นที่ต้องแต่งตัวแบบฮิปปี้ ไว้ผมยาว หรือทำอะไรที่เป็นรูปลักษณ์ภายนอกตามแบบพวกเขา เราจึงจะเข้าถึงความคิดแบบนั้นได้

นอกจากนี้ผมยังเชื่อว่าแนวคิดนี้เป็นศิลปะที่ต้องอาศัยการผสมผสาน และปรุงแต่งให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่แตกต่างกันไปของแต่ละคน ไม่มีส่วนผสม หรือสูตรสำเร็จตายตัว เพราะในบางกรณีอย่างคำว่า Drop out ในความหมายของการทำอะไรตามใจตัวเอง หากทำแบบไม่ถูกที่ ถูกเวลา อาจทำให้เกิดปัญหาต่อส่วนรวมได้

แต่หากนำไปใช้ ในเรื่องของความกล้าหาญทางความคิด ในแบบของการไม่ยึดติดกับกรอบหรือวิถีความคิดแบบเดิม ๆ น่าจะเป็นเรื่องที่ดีกว่า

อย่างไรก็ตาม ดังที่จั่วหัวไว้ตั้งแต่ต้น ผมแค่ขอเล่าและชวนให้ลองคิดตาม ปรัชญาของคนกลุ่มหนึ่งให้ท่านฟัง โดยหวังว่ามันอาจจะ "โดนใจ" หรือเป็นตัวจุดประกายความคิดของใครได้บ้าง แต่ทั้งนี้หากใครไม่เห็นด้วย หรือคิดว่าไม่ได้เรื่อง คงเป็นเรื่องอิสระทางความคิดของแต่ละท่าน

และผมยังเชื่อว่า ใกล้ปีใหม่แล้ว หลายคนคงกำลังทบทวนเรื่องราวต่าง ๆ ทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งของตนเองในหนึ่งปีที่ผ่านมา หรือกำลังค้นหาแรงบันดาลใจเพื่อพัฒนาความคิดและแนวทางในการดำเนินชีวิต ของตนเองให้ดียิ่งขึ้นในปีหน้า ซึ่งตัวผมเองก็กำลังคิดเช่นนี้เหมือนกัน

บางทีคำและความหมายที่เราคุยกันวันนี้ อาจเป็นข้อมูลส่วนหนึ่งในการช่วยประมวลความคิดให้ท่านหาแนวทางดี ๆ เพื่อการก้าวไปข้างหน้าของ

ตัวท่านเอง คงไม่ว่ากันนะครับถ้าผมจะขึ้นต้นและลงท้ายกันคนละเรื่อง เพราะบังเอิญไปถูกใจ ประโยคหนึ่งของเพลงในหนังเรื่อง Love Actually ที่บอกว่า "Something’s lost but something’s gained in living every day" ซึ่งไม่เกี่ยวกับเรื่องที่เราคุยกันวันนี้เลย

ผมอยากลองแนวคิดแบบ Drop out โดยเขียนและบอกเล่าอะไรกับท่าน ตามใจตัวเองดูบ้าง

No comments:

Post a Comment