หลวงวิจิตรวาทการบอกเคล็ดลับว่า
“คนจะเป็นมหาบุรุษได้ ต้องมีคุณสมบัติ ๕ ประการ คือ ความมุ่งหมาย ความเป็นผู้มีหัวใจเข้มแข็ง สมาธิ ความเชื่อมั่นในตนเองและมโนยิทธิ”
ขยายความว่า
๑. ความมุ่งหมาย เข็มทิศชีวิตเราต้องควบคุมหรือหมุนเองได้ โดยรู้จักวางแผนงานและเป้าหมายให้ชัดแจ้งและชัดเจน รู้หลักทฤษฎีที่ถนัดและรู้จักหลักปฏิบัติที่สัมผัสผล รู้จักวัตถุประสงค์และบรรลุประโยชน์ที่ตอบสะท้อนย้อนกลับอย่างไม่พร่ามัว พยายามอุทิศตัวอุทิศใจสู่เป้าหมายอย่างอดทน อดกลั้น ไม่เกรงกลัวต่อแรงต้านทาน มุ่งมั่น ไม่ทอดทิ้ง ไม่ท้อถอย ทุกความมุ่งหมายในชีวิตไม่ว่าจะทำการอันใด
ขงจื้อให้ข้อคิดไว้ว่า “อย่าห่วงว่าใครไม่รู้ว่าท่านเก่งหรือมีความสามารถ จงห่วงว่า สักวันหนึ่ง เมื่อคนเขายกย่องหรือเลื่อนตำแหน่งท่าน ท่านมีความเก่งและความสามารถสมกับที่เขายกย่องหรือเลื่อนตำแหน่งหรือเปล่า”
จงพยายามคิดและมุ่งหมายในเชิงบวก พยายามฝึกตนสร้างศักยภาพให้พรั่งพร้อมเสมอ ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้หรือเกินกว่าที่จะเอื้อมถึง แม้ว่าบางครั้งแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์จะริบหรี่ก็ตาม เพียงมุ่งมั่นและกล้าที่จะก้าว ความสำเร็จอยู่ในแค่เอื้อม ในเรื่องความมุ่งหมายนี้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “วายเมเถว ปุริโส ยาว อัตถัสสะ นิปปะทา เกิดเป็นคนต้องพยายามร่ำไป จนกว่าจะได้สิ่งที่ปรารถนา” Just do it!
๒. ความเป็นผู้มีหัวใจเข้มแข็ง คนที่ผ่านอุปสรรคนานัปการทั้งขั้วลบและขั้วบวก มักมีความอดทนกล้าแกร่งที่เต็มพลัง จึงเรียกว่า “ผู้มีหัวใจเข้มแข็ง” คนเหล่านี้มักแปลงวิกฤตให้เป็นโอกาส ปรับอุปสรรคให้เป็นอุปกรณ์ ทำปัญหาให้ปัญญาได้อย่างแยบยล นโปเลียนมหาราชกล่าวว่า “การจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ท่านจะต้องมี ๒ สิ่ง คือ มีศัตรูที่กล้าแข็งที่สุด และมีมิตรที่ซื่อสัตย์ที่สุด”
มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ผู้เขียนท้อแท้กับการทำงานวิจัย คิดไม่ออก บอกไม่ได้ ปัญญาตื้อมึนแทบทุกด้าน เหลียวมองทิศทางใดก็หาทางออกไม่เจอ ธรรมะจัดสรรอย่างสมสมัยก็คือได้ดูตัวอย่างชีวิตพระผู้นำ จากรายการคนค้นคนจากหลวงพ่อปัญญานันทะ วัดชลประทานรังสฤษฏ์ ในรายการคนค้นคน ท่านเทศน์ทิ้งทวนอย่างน่าคิดว่า “พบเสือ...เราจะสู้ พบศัตรู...เราจะฆ่า พบแม่น้ำขวางข้างหน้า...เราจะว่ายข้ามไป เดิน เดิน เดิน เดินไม่หยุด...มันก็ถึงปลายทาง”
ประโยคประทับใจสั้นๆ แค่นี้หละ เป็นเสมือนจุดประกายพลังใจอันยิ่งใหญ่ โปรยจิตให้ตื่นรู้และปลุกเสกสติฮึดสู้ต่อไปจนสำเร็จความมุ่งหมายที่ตั้งใจไว้ คนที่เข้มแข็งคือคนที่พร้อมจะเรียนรู้ทุกกระบวนทัศน์และต่อสู้ทุกกระบวนยุทธ์ บุคคลที่ไม่เคยมีศัตรูไม่มีอุปสรรคเลย จะเป็นผู้เข้มแข็งไม่ได้...‘Leaders are like tiger, they walk alone’
๓. สมาธิ คุณลักษณะพิเศษของผู้นำอย่างหนึ่งก็คือ มีปัญญามองการณ์ไกลได้ดี สามารถจัดการธุระได้อย่างยอดเยี่ยม มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลอื่น บุคคลที่มีคุณสมบัติเช่นนี้ได้ เพราะมีสมาธิแน่วแน่ เป็นสมาธิที่เกิดจากความตั้งมั่นของจิต หรือมีจิตแน่วแน่ต่อสิ่งที่กระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ฟุ้งซ่าน ส่ายไปมา สมาธิเช่นนี้เป็นภาวะที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง ผู้นำที่ฝึกสมาธิบ่อยๆ จนชำนาญช่ำชอง ช่วยทำให้จิตใจผ่อนคลายหายเครียด เกิดความสงบหายกระวนกระวาย หยุดยั้งจากความกลัดกลุ้มวิตกห่วงกังวล ทำให้ใจสบายมีความสุข มีสมาธิมั่น ไม่วอกแวก ฟุ้งซ่าน เลื่อนลอยสามารถนำมาเป็นเครื่องเสริมประสิทธิภาพในการทำกิจการบริหารงานทุกอย่างได้มีประสิทธิผล สมาธิที่ฝึกดีแล้วช่วยเสริมสุขกายภาพและรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ และสมาธิยังเป็นฐานสู่สุขภาพจิตที่ดีและปัญญาหยั่งรู้ได้หลายด้าน
๔. ความเชื่อมั่นในตนเอง ความเชื่อในพุทธธรรม หมายถึงความมั่นใจ คือเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ ประกอบด้วยเหตุผล เชื่อในความดีสิ่งดีงาม มีลักษณะไม่ตื่นตูมไปตามอาการภายนอก โดยเฉพาะความเชื่อในกรรม เชื่อผลของกรรม เชื่อว่าสัตว์มีกรรมเป็นของตัว ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว และเชื่อปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตสัมมาสัมพุทธเจ้า “เชื่อในสิ่งที่คิด สัมฤทธิ์ด้วยพยายาม ความสำเร็จก็จะตามมา”
ชีวิตจะก้าวหน้าหรือถอยหลัง จะรุ่งโรจน์หรือพุ่งดิ่ง จะทุนหดหรือหมดกำไร ขึ้นอยู่กับศรัทธาความเชื่อมั่นเป็นแรงผลักดันภายในทั้งนั้น มิใช่เพราะอำนาจภายนอกมาบันดาลประทานพรให้เกิดโชคลาภวาสนาดังที่เป็นในปัจจุบัน ปราชญ์กล่าวไว้ว่า “มิใช่เทวาดอกมาอุ้มสม มิใช่พระพรหมดอกมาเสกสรร มิใช่ศุกร์เสาร์หรืออาทิตย์จันทร์ จะมาดลบันดาลให้เราชั่วดี” ความเชื่อมั่นในสิ่งที่เรารู้ เราคิด เราทำนี่หละ จะเป็นยาเสริมกระตุ้นให้เกิดพลังภายในสามารถทำกิจอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย ไม่เฉื่อยแฉะ ไม่ไร้สมรรถภาพ
การทำงานก็เหมือนกัน ต้องพยายามสร้างสินเชื่อในตัวตน ก็คือ “ผู้ใหญ่ต้องให้ท่านเชื่อใจ เพื่อนพ้องต้องให้เขาเชื่อมือ ลูกน้องต้องให้เขาเชื่อถือ ส่วนตัวเราต้องเชื่อมั่นในตนเอง” ถ้าไม่มีความเชื่อมั่นในตนเอง สินเชื่อก็ไม่เกิดขึ้น ก็จะกลายเป็นคนขาดเครดิต ไม่มีสินเชื่อ ขาดมิตรแท้ในสังคม
๕. มโนมยิทธิ เป็นฤทธิ์ทางใจ สามารถถอดจิตจากกายได้ มีลักษณะเหมือนชักดาบออกจากฝักหรืองูลอกคราบ ในที่นี่หมายเอาเทคนิคทางใจ (โยนิโสมนสิการ) ก็คือ
คิดถูกวิธี (อุปายมนสิการ) รู้จักคิดอย่างไม่หลงทิศผิดทางทั้งปริยัติการและปฏิบัติการ
คิดมีระเบียบ (ปถมนสิการ) รู้จักคิดอย่างเป็นขั้นตอน ไม่ด่วนสรุปตามเหตุการณ์ข่าวที่เป็นแต่ค่อยๆ เรียบเรียงระดมสติอย่างมีขั้นตอน
คิดมีเหตุผล (การณมนสิการ) รู้จักคิดโยงจากเหตุไปหาผลเกื้อกูลสัมพันธ์กันอย่างรู้เท่าทัน รู้เท่าเอาไว้กัน รู้ทันเอาไว้แก้ ถึงคราวแย่ก็ไม่จมหัวปักหัวปำ
คิดเป็นกุศล (อุปปาทกมนสิการ) รู้จักคิดสร้างสรรค์ คือรู้จักคิดในเชิงบวก คิดหาสาระจากสิ่งที่ไร้สาระ คิดให้เป็นสุขในภาวะที่เป็นทุกข์ได้ ดังวาทะกรรมของขงจื้อว่า “เมื่อข้าพเจ้าเห็นคนสองคนเดินสวนทางมา คนหนึ่งเป็นคนดี อีกคนหนึ่งเป็นคนเลว คนทั้งสองเป็นครูของข้าพเจ้าได้เท่ากัน เมื่อเห็นคนดี ข้าพเจ้าพยายามเอาอย่างเขา เมื่อเห็นคนเลว ข้าพเจ้าพยายามไม่เอาอย่างเขา”
เคล็ดลับภาวะสู่ความเป็นมหาบุรุษหรือผู้นำที่อยู่ในใจคนอย่างไม่เสื่อมคลาย ดังที่สาธยายมาข้างต้นนี้ ทุกคนสามารถสร้างขึ้นเองได้ด้วยหนึ่งสมอง สองมือ สองเท้า...แต่ต้องก้าวอย่างมีสติและใช้เคล็ดลับ ๕ ประการให้พรั่งพร้อมทุกสถานการณ์...แล้วท่านก็จะมหาบุรุษในใจตนและนั่งในใจคนทั้งหลายอย่างแน่นอน
ขอบคุณค่ะ
ReplyDelete