Monday, February 9, 2009

ทุนมนุษย์ 2020 : วิกฤติ+อดทน = โอกาส+หัวเราะ

จุมพฏ สายหยุด
เพื่อนสุภาพสตรีเล่าให้ฟังว่าตอนอยู่มัธยมปลายเคยไปเที่ยวทะเลแถวระยองกับเพื่อนๆ แล้วเช่าเรือประมงเล็กออกไปนอกฝั่งเผอิญเจอคลื่นยักษ์ ก็คิดว่าไม่รอดแน่นอน แต่ในที่สุดก็ปลอดภัยกลับมาเล่าประสบการณ์ระทึกให้ผมฟังได้
“ตอนมาถึงฝั่งรอดตาย ทุกคนกอดกันหัวเราะทั้งน้ำตา” เธอเล่าไปหัวเราะไปแม้เหตุการณ์จะผ่านไปแล้วหลายปีแล้วเข้าใจว่าคงเอาเรื่องนี้ไปเล่าให้ลูกหลายฟังต่อไป
เรื่องราวของเพื่อนคนนี้ สอดคล้องกับคำคมของ นักประพันธ์เรืองนามของโลก H. G. Wells ที่เคยกล่าวว่า “The crisis of today is the joke of tomorrow” วิกฤติวันนี้ คือ เรื่องตลกของวันพรุ่งนี้
เวลานี้โลกกำลังเผชิญวิกฤติ ชนิดที่ว่า วันไหนหนังสือฉบับใด ฉบับหนึ่ง ใช้คำว่า “วิกฤติ” น้อยกว่า 10 ครั้งแสดงว่าวันนั้นบรรณาธิการ หรือนักข่าวต้องทำอะไรผิดพลาดแน่นอน หาก H. G. Wells พูดถูกก็หมายความว่า พรุ่งนี้โลกจะมีเรื่องโจ๊กเป็นเข่ง คิดอย่างนี้อาจจะทำใจให้พอสบายใจขึ้นมาได้บ้าง
ทำไม คนเราจึงสามารถหัวเราะกับเรื่อง วิกฤติที่ผ่านไปแล้วได้ ผมคิดว่ามีสาเหตุอย่างน้อยสามประการ ประการแรก “วิกฤติ” มักจะเป็นเรื่องผิดประหลาดที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น จึงเป็นประสบการณ์ที่มิอาจลืม คนเราเลยหัวเราะให้กับความผิดปกติ
สอง การเผชิญหน้ากับวิกฤตินั้น คือเผชิญกับความทุกข์ยากแทบเอาตัวไม่รอด เมื่อผ่านมาได้ย่อมถือว่ามีความสามารถจึง หัวเราะ เพื่อเป็น “รางวัล” ให้กับชีวิต และสาม คนเราเมื่อตกอยู่ในวิกฤติย่อมเกิดความเคร่งเครียด พอผ่านพ้นมาได้ก็เลยรู้สึกผ่อนคลาย ก็จึงได้หัวเราะขึ้นมาก็เป็นได้
คนที่สร้างหนังก็จับจุดนี้ไปหากิน ด้วยการสร้างหนังที่สร้างภาวะคับขันวิกฤติให้กับตัวละคร ก่อนผ่านพ้นไปได้ในตอนจบ ผู้ชมจึงรู้ผ่อนคลายเดินออกจากโรงภาพยนตร์ด้วยความรู้สึกที่ดี คุ้มค่าเงินที่จ่ายไป
เมื่อเร็วๆ นี้ ก็มี “The joke of tomorrow” ปรากฏใน นิตยสารดังในแวดวงดิวตี้ฟรีโลก The Moodies Report Plus ฉบับประมวลความเคลื่อนไหวในวงการดิวตี้ฟรีโลก (ฝรั่งเรียกธุรกิจนี้ว่า Travel Retail Industry) ได้นำเสนอ บุคคลแห่งปี (People of the Year) จำนวน 6 ท่าน ปรากฏว่ามี คุณวิชัย รักศรีอักษร ซีอีโอ กลุ่มคิง เพาเวอร์ รวมอยู่ด้วย
ถึงแม้ The Moodies Report Plus จะไม่ได้จัดว่าใครเด่นที่สุด แต่จาก Lay Out ของนิตยสารที่วางออกมาคุณวิชัย อยู่คนแรก และเมื่ออ่านข้อความที่เขียนถึงก็พบว่า ข้อความที่บรรยายถึง ซีอีโอ คิงเพาเวอร์ มีความเผ็ดร้อนที่สุด ดังถอดความเป็นภาษาไทยได้ดังนี้
ในประวัติศาสตร์ธุรกิจของเรา ไม่มีธุรกิจใดที่ได้รับการจู่โจมเท่ากับ คิงเพาเวอร์ ในขณะที่ต้องตั้งรับคลื่นแห่ง ความท้าทายทางการเมืองที่ถาโถมเข้ามาหลายระลอก หลังจากที่ได้รับสัมปทานให้เข้าบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ และร้านค้าปลอดภาษีทั้งหมดภายในสนามบินสุวรรณภูมิ ประเทศไทย การฟื้นตัวจากการเผชิญหน้าฝ่ายตรงข้ามที่ประสงค์ร้ายนั้นเป็นเรื่องใหญ่โตมาก แต่ก็คิง เพาเวอร์ยังยืนหยัดตลอดมา
ไม่มีครั้งไหนที่ประธานวิชัยจะตอบโต้อย่างเคียดแค้นท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่เผ็ดร้อนในสื่อไทย ตรงกันข้าม เขาวางใจ ในความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายและสิ่งที่เขาตระหนักดีว่า บริษัทไม่ได้ทำอะไรผิด
ย้อนกลับไปหา ต้นฉบับ รายงานฉบับนี้ขึ้นต้นว่าสิ่งนี้ไม่เคยปรากฏในอุตสาหกรรม Travel Retail Industry ดังความว่า
“Never in the history of our sector has a retailer faced a greater assault on its very existence than King Power”
ในข้อเขียนของรายงานฉบับนี้ยังให้ความสำคัญกับ “ความอดทน” ซึ่งถือว่า เป็น
“กระบวนการ” สำคัญในการฝ่าวิกฤติ ดังเช่นที่อดีตจักรพรรดิจีนท่านหนึ่ง เคยตรัสไว้ว่า
“บุคคลผู้ปราศจากพลังแกร่งแห่งความอดทนในยามวิกฤติ ก็ยากที่จะเห็นโอกาสที่แฝงอยู่ โอกาสที่ว่านั้นอยู่ในกระบวนการแห่งความยืนหยัดอดทน ที่เผยตัวออกมา”
เมื่อหลายปีก่อนตอนที่รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ โดยทำรัฐประหาร ติดตามด้วยการอายัดทรัพย์สินของนักการเมืองหลายคน ซึ่งหลายคนเห็นว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรมจึงออกมาพูดให้ข่าวเรียกร้องเสมอ ยกเว้นอดีตรัฐมนตรีท่านหนึ่งที่ไม่เคยให้ความเห็นเรื่องนี้เลย จนในที่สุดคำสั่งอายัดทรัพย์สินถูกยกเลิก มีนักข่าวไปสัมภาษณ์ท่านที่สนามกอล์ฟ ซึ่งได้รับคำตอบว่า
“ราชสีห์ ไม่ใช่สุนัข จึงไม่ร้องเมื่อถูกกดดัน”
“ความอดทน” จึงเป็น “คุณธรรม”ที่สำคัญยิ่งในยาม “วิกฤติ” เพราะจะทำให้เราตั้งสติ มีกำลังใจ และมองเห็น “โอกาส” ที่แฝงอยู่ได้ ที่สุดก็จะจบลงด้วยเสียงหัวเราะ

No comments:

Post a Comment